
อดีตเมื่อ พ.ศ. 2492-3 รถสายตรวจวิทยุ ในคราบของฉลามร้ายที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนทุกซอกทุกมุมของพระนคร-ธนบุรี แม้แต่ต่างจังหวัดก็พบเห็นบ่อยครั้งในยามที่ประชาชนเดือนร้อน ชาวบ้านจะเห็นเสาวิทยุโผล่มาแต่ไกลพร้อมกับเสียงที่เสียดหัวใจเหล่าบรรดานักเลงหัวไม้แก๊งอั่งยี่ อันธพาลแก๊งเก้ายอด และพวกมิจฉาชีพ นั่นคือ “ยมบาลฉลามร้ายบนเส้นทางหลวง” ทุกคนต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด แม้แต่เด็กที่ร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงไซเรนส์ยังหยุดร้อง นั่นคือผลงานของรถวิทยุสายตรวจกองปราบปรามที่ได้ปฏิบัติกับพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน ทำลายความสงบสุขของชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่มีทางสู้ จนได้ขนานนามว่า “ฉลามบก” สิงห์ร้ายผู้พิฆาตศัตรูของประชาชน พิทักษ์ความยุติธรรมในสังคมชาติ
ก่อนที่จะมาเป็น ฉลามร้ายบนเส้นทาง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้ตระหนักถึงสวัสดิภาพของประชาชนในระยะเวลานั้นที่โดยเหล่านักเลงหัวไม้ แก๊งอั่งยี่ อันธพาล แก๊งเก้ายอด และพวกมิจฉาชีพ เรียกร้องค่าคุ้มครองออกตระเวนรีดไถชาวบ้าน ร้านค้าต่างๆ ทั่วไป ทวีความรุนแรงเหิมเกริมหนักข้อยิ่งขึ้นทุกวัน บางครั้งถึงกับทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ตามท้องถนน เมื่อร้านใดมิยอมจ่ายให้ตามข้อตกลงก็เข้าทำการบุกทำบายทรัพย์สินและทำร้ายร่างกายเจ้าของร้าน ในสมัยนั้นส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่แต่ในโรงพักเพื่อรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างๆ เมื่อมีเหตุก็จะออกไปดูสถานที่ แต่ไม่ทันกาล เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเหล่าร้ายแก๊งต่างๆ ก็หนีเตลิดเข้ากลีบเมฆไม่สามารถจะบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างจริงจัง
ในช่วงนั้นจึงได้ดำริจัดตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยงานหนึ่งเพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนอย่างแท้จริง จัดเป็นรูปรถสายตรวจออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ย่านการค้า ทั่วพระนคร-ธนบุรี และต่างจังหวัดที่มีความรุนแรงในเรื่องดังกล่าว เป็นการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยเคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในตอนนั้น โดยตระเวนรับแจ้งความ แจ้งเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน รถดังกล่าวสามารถเข้าระงับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ ระยะแรกได้ผลเป็นอย่างมาก สารถเป็นที่พึ่งอย่างดีสำหรับประชาชนที่ใช้ถนนในยามค่ำคืนในสมัยนั้น
รถวิทยุสายตรวจมีขึ้นในสมัย หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรอง อตร. ถือว่าเป็นหน่วยแรกของประเทศไทย โดยกำลังที่ออกตรวจทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามสามยอด อุปกรณ์สมัยแรกจะเป็นรถจิ๊บวิลลี่ ขนาดกลาง และเล็ก รถดังกล่าวเป็นรถของตำรวจรถถัง (วังปารุสก์) พร้อมด้วยพลขับ
ส่วนศูนย์วิทยุตั้งอยู่ชั้นบน โรงพักกลาง (สน.พลับพลาไชย ในปัจจุบันนี้) กำลังทั้งหมดนำมาจากกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ที่ตั้งอยู่ที่โรงพักสามยอด ปัจจุบันเป็นกองบังคับการกองปราบปราม (กองบังคับการกองปราบปราม ตั้งอยู่ที่ปทุมวัน) การออกตรวจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เหนือ ใต้ ธน ข้างรถเขียนหนังสือกำกับว่า “ต” (รถตรวจ) รถดังกล่าวก็จะออกตรวจต่างจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำรวจทางหลวงเช่นเดียวกัน
ต่อมาสภาพบนถนนหลวงเริ่มแออัดด้วยรถยนต์ เนื่องจากความเจริญเติบโตของประเทศไทย ได้ขยายกว้างมากขึ้นทำให้ความรวดเร็วในการเข้าระงับเหตุล่าช้า จึงเริ่มหันมาใช้รถมอเตอร์ไซด์ สมัยแรกที่เริ่มเอามาใช้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเป็นรถมอเตอร์ไซด์ขนาด 4 สูบ รุ่น “แฮร์เอี้ยน 4” ต่อมารถจิ๊บหน้ากบได้เข้า
มาเสริมอีกจำนวนหนึ่ง ให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างแท้จริงโดยทั่วถึง การระงับเหตุในช่วงเวลานั้นได้ผลมากเกินเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้
ต่อมาทางหน่วยได้เงินงบประมาณพิเศษจำนวยหนึ่งจัดซื้อรถฟอร์ด อย่างละ 10 คัน มีสีแดง ดำ น้ำเงิน โดยรถจำนวนดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม รถทั้งหมดติดเสาวิทยุด้านหลังสูงเป็นสัญลักษณ์เหมือนกระโดงหลังปลาฉลาม เมื่อ พ.ศ.2495 ภายหลังจากย้ายกองบังคับการกองปราบปรามมารวมกันหมด รถรุ่นนี้ที่มีลักษณะคล้ายปลาฉลามจึงได้ขนานนามว่า “ฉลามบก” นักล่าศัตรูประชาชน มีภารกิจทั่วประเทศ มีขอบเขตการทำงาน ด้านใต้ถึงหัวหิน ตะวันออกเฉียงเหนือถึงโคราช ตะวันออกถึงระยอง และทางเหนือก็มีอีกเช่นกัน ผลัดกันออกอาทิตย์ละวัน ตลอด 24 ชม. ทั่วประเทศ
เป็นการคุ้มครองบนถนนทางหลวงสายต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อมาได้ขึ้นกับกรมทางหลวง กลายเป็น ตำรวจทางหลวง ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ส่วนรถจิ๊บส่วนหนึ่งได้ประจำที่ด่านรังสิต บางแค กรมอุตินิยม(สุขุมวิท) ฉายา “ฉลามบก” นามนี้จะติดปากชาวบ้านทั่วประเทศเป็นขวัญใจประชาชน สามารถเข้าไปคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะลุกเป็นไฟยามหน้าสิ่วหน้าขวาน “ฉลามบก” ก็สามารถเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ให้ความอบอุ่นกับประชาชนได้อย่างดีทันท่วงที จึงเป็นขวัญกำลังใจประชาชนในช่วงนั้น
หน่วยงานนี้แม้นขบวนการ อั่งยี่ เก้ายอด นักเลงหัวไม้ อันธพาล ที่ใช้อิทธิพลมืดคิดจะครอบครองเมืองเสียเอง โดยใช้กฎหมายโจรเข้ามาปกครองตั้งตัวเป็น “มาเฟีย” เดินกร่างคับตรอกคับซอย ไม่กลัวฟ้าดิน แต่ถ้าเหลียวหลังเห็นเสากระโดงแวบๆ ต้องกับแสงอาทิตย์ พวกนี้จะกลายสภาพทีใหญ่คับฟ้า เป็นคนไม่มีกระดูกสันหลังลีบ แทบจะติดพื้นดินเหมือนเห็นยมบาลมาคร่าชีวิตก็ปานนั้น หรือแม้เพียงได้ยินแต่เสียงห่างเป็นกิโลก็ใส่หลวงพ่อโกยอย่างไม่คิดชีวิตเลย
มายุคหลังในช่วงทหาร จี.ไอ. พักรบซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ทหารอเมริกันเลือกมาพักผ่อนกัน ฉลามบกจะมีการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารไทยและทหารสหรัฐ ตำรวจกองปราบปรามเดินเข้าไปตรวจในบาร์เสียงที่เอะอะไม่รู้ใครเป็นใคร เมาแสนเมาแค่ไหน เสียงจะเงียบเหมือนไม่มีใครอยู่ในที่นั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก การปราบปรามในช่วงนั้นจะต้องอาศัยความเฉียบขาด และรุนรงกับผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่สามารถปราบปรามแก๊งต่างๆ ที่ออกอาละวาดประชาชนผู้สุจริตให้มีความเป็นอยู่ที่ปกติได้อย่างมีความสุขอย่างทั่วหน้า
เครื่องแบบของหน่วยนี้ในช่วงแรกๆ จะไม่เหมือนใคร จะแต่งชุดสีเทา เข็มขัดคาดเอวเส้นใหญ่ กระดุม 7 เม็ด คอปิด กระเป๋าสี่ใบอยู่ข้างหน้า ต่อมาในสมัย พล.ต.ต.สำราญ กลัดศิริ ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เปลี่ยนแปลงเครื่องแบบเหมือนกันอย่างทุกวันนี้ ในราวปี 2502-3 ก็ได้เปลี่ยนสีรถเป็นสีฟ้า-ขาว ต่อมาเมื่อปี 2511 ยูซ่อมให้ความช่วยเหลือจัดหาซื้อรถเชฟโรเรตต์ และรถบี เอ็ม ดับลิว 1800 ภายหลังก็มีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนเนื่องจากหมดสภาพมาเป็น โตโยต้า มาสด้า นิสสัน ขึ้นตรงอยู่กับแผนก 3 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม
นั่นคือ ที่มาของแผนก 3 กองกำกับการ 2 ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการอารักขาประมุขของต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ขอมา สนับสนุนสายตรวจนครบาล รักษาการตามสถานีขนส่งทั้งสามสาย เป้าหมายในการออกตรวจเป็นการหาข่าว ประสานงานกับศูนย์รวมข่าวต่างๆ (195, 191 รามา เหนือ ใต้ ธน) และยังมีหน้าที่หาข่าวให้กับกองกำลังฯ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบและ เหตุการณ์ที่อาจลุกลามใหญ่โต อีกประการหนึ่งเพื่อเป็นหน่วยเสริมช่องว่างระหว่างสถานีตำรวจกับสถานีตำรวจที่ยังขาดกำลัง และเป็นการเสริมรถสายตรวจของกองกับการ 8 ป ตำรวจท่องเที่ยวที่ให้ความคุ้มครองแก่นักท่องเที่ยว ตลอด 24 ชม.